ในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา เชื่อว่าหลาย ๆ บ้าน คนเผชิญกับปัญหาค่าไฟแพงขึ้นเป็นเท่าตัว ยิ่งถ้าใครเป็นคนใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วยแล้ว ก็คงจะอยากเซฟค่าไฟให้มากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนมาใช้ “มิเตอร์ TOU” ซึ่งเป็นมิเตอร์ไฟฟ้าทางเลือกที่หลาย ๆ คนสนใจ เพราะฉะนั้น ทาง PlugHaus Thailand จะพาคุณมาทำความรู้จักกับมิเตอร์ไฟฟ้า TOU ให้มากขึ้น ว่าคืออะไร แล้วคุ้มไหมถ้าจะติดตั้งมิเตอร์ชนิดนี้แทนมิเตอร์ปกติที่ใช้อยู่
มิเตอร์ TOU คืออะไร?
มิเตอร์ TOU (Time Of Use Tariff หรือ Time Of Use Rate) คือ มิเตอร์ไฟฟ้าในรูปแบบดิจิทัล ที่จะใช้วิธีการคิดค่าไฟตามช่วงเวลาในการใช้งาน ต่างจากมิเตอร์ไฟฟ้าแบบปกติที่จะคิดค่าไฟตามหน่วยการใช้งาน โดยการคิดอัตราค่าไฟฟ้าของการใช้มิเตอร์ไฟฟ้า TOU จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ On-Peak และ Off-Peak ซึ่งทั้งสองเวลาจะมีการคิดค่าบริการที่ต่างกันตามการกำหนดอัตราค่าไฟของ MEA และ PEA
การคิดอัตราค่าไฟฟ้า ของมิเตอร์ TOU
สำหรับอัตราค่าไฟฟ้าของมิเตอร์ TOU นั้น จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงราคา คือ ช่วงเวลา On-Peak และ Off-Peak ซึ่งเวลาในการคิดค่าไฟ จะมีราคาต่อหน่วยที่ต่างกัน ดังนี้
- ช่วงเวลา On-Peak หรือ Peak จะมีค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 5.1135 (แรงดัน 22 – 33 kV) และราคา 5.7982 บาท/kWh (แรงดันต่ำกว่า 22 kV)
- เวลา Off-Peak มีราคาค่าไฟอยู่ที่ 2.6037 (แรงดัน 22 – 33 kV) และราคา 2.6369 บาท/kWh (แรงดันต่ำกว่า 22 kV)
โดยราคาค่าไฟต่อหน่วย หรือต่อ kWh นั้น จะเป็นราคาที่ยังไม่รวมกับค่า FT และค่าบริการรายเดือน ทั้งนี้ จากกระแสข่าวการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ก็อาจจะส่งผลให้ค่าไฟต่อหน่วยเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่า FT ได้เช่นกัน (ตั้งแต่งวดวันที่ ก.ย. – ธ.ค.) ซึ่งปัจจุบันอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับการใช้มิเตอร์ TOU สำหรับบ้านและกิจการขนาดเล็กจะมีราคาที่เท่ากัน แต่หากเป็นกิจการขนาดกลางไปจนถึงกิจการขนาดใหญ่จะมีราคาค่าไฟฟ้าที่ถูกลงมา
มิเตอร์ไฟฟ้า TOU เหมาะกับใครบ้าง เปลี่ยนแล้วคุ้มไหม?
จะเห็นได้เลยว่า จากการคิดอัตราค่าไฟฟ้าของการใช้มิเตอร์ TOU ที่จะยึดตามเวลา On-Peak และ Off-Peak นั้น ส่งผลให้ค่าไฟเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด แต่การจะเปลี่ยนมาใช้มิเตอร์ไฟฟ้าชนิดนี้ จะเหมาะกับคนบางกลุ่มเท่านั้น นั่นก็คือ กลุ่มคนที่ต้องเดินทางออกไปทำงานในเวลากลางวัน แล้วกลับมาใช้ชีวิตในบ้านตอนกลางคืนเป็นหลัก เช่น หากใช้รถยนต์ไฟฟ้า EV ก็สามารถชาร์จไฟในเวลากลางคืน เพื่อนำรถไปใช้ในเวลากลางวัน เป็นต้น
แต่หากใครที่ทำงานอยู่ที่บ้าน เช่น Work From Home ทำธุรกิจที่บ้าน หรือมีสมาชิกในบ้านอาศัยอยู่ในเวลากลางวันหลายคนก็อาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่นัก เพราะสุดท้ายแล้วในช่วงเวลากลางวันก็ยังคงมีอัตราการใช้ไฟฟ้าไม่ต่างจากเวลากลางคืนอยู่ดี เพราะฉะนั้น ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้มิเตอร์ TOU ก็ควรสำรวจก่อนว่าพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของสมาชิกในบ้านเป็นอย่างไร ส่วนมากแล้วจะใช้ไฟในเวลาไหนมากที่สุด เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและสามารถประหยัดค่าไฟได้จริง
เปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้า เป็นมิเตอร์ TOU ต้องทำยังไง?
การติดตั้งมิเตอร์ TOU ที่บ้านนั้น สามารถทำได้ 2 ช่องทาง คือ ยื่นเรื่องผ่านทางออนไลน์ได้ด้วยตัวเอง หากอยู่ในเขตการไฟฟ้านครหลวงสามารถยื่นเรื่องได้ที่เว็บไซต์ https://eservice.mea.or.th/ หรือที่เบอร์โทรศัพท์ 1130 แต่หากอยู่ในเขตความรับผิดชอบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะต้องยื่นเรื่องผ่านทางเว็บไซต์ https://eservice.pea.or.th/ หรือติดต่อคอลเซ็นเตอร์ที่เบอร์โทรศัพท์ 1129 และอีกช่องทางหนึ่งก็คือ ดำเนินการขอใช้มิเตอร์ไฟฟ้า TOU ที่การไฟฟ้าใกล้บ้าน
เอกสารที่ต้องใช้สำหรับการขอเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้า
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
- สำเนาเอกสารการเปลี่ยนชื่อ (ถ้ามี)
- สำเนาทะเบียนบ้านที่ขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า TOU
- หากไม่ใช่เจ้าบ้านต้องมีเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น สัญญาซื้อขาย หรือใบมอบอำนาจ
- บิลค่าไฟฟ้า
- ใบคำขอใช้ไฟฟ้า (ดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของ PEA หรือ MEA)
ราคาและค่าติดตั้ง สำหรับมิเตอร์ไฟฟ้า TOU
สำหรับค่าบริการการติดตั้งเปลี่ยนมาใช้มิเตอร์ไฟฟ้า TOU จะมีราคาค่าเปลี่ยนมิเตอร์อยู่ที่ 700 บาท และค่ามิเตอร์ 6,000 บาท โดยอัตราค่าธรรมเนียมในการขอใช้ไฟฟ้าและค่าบริการต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับขนาดของมิเตอร์ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะบ้านที่ใช้ไฟฟ้า 1 เฟส และ 3 เฟส ที่อาจจะมีราคาที่ต่างกันอยู่บ้าง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนมาใช้มิเตอร์ไฟฟ้า TOU สามารถสอบถามอัตราค่าบริการได้ที่การไฟฟ้าในพื้นที่ เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าควรจะหันมาใช้มิเตอร์ TOU ดีหรือไม่
ติดตั้ง Home EV Charger ที่มีมาตรฐาน เลือก PlugHaus
นอกเหนือจากการเปลี่ยนมาใช้มิเตอร์ TOU ที่จะช่วยให้ผู้ใช้รถ EV ประหยัดไฟได้มากขึ้นแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ การเลือกใช้ Home Charger ที่มีมาตรฐาน และเป็นมิตรกับรถยนต์ไฟฟ้า โดยทาง PlugHaus Thailand นั้น ก็เป็นอีกหนึ่งผู้ให้บริการติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน ที่มีมาตรฐานและผ่านการรับรองทั้งจาก PEA และ MEA โดยทีมงานที่มากประสบการณ์ โดยเฉพาะวิศวกรไฟฟ้าที่ได้ใบรับรอง ที่สามารถให้ข้อมูลพร้อมตรวจสอบความพร้อมของระบบไฟฟ้าได้อย่างตรงจุด ที่สำคัญคือ เรามีเครื่องชาร์จให้เลือกหลายรุ่นในงบที่คุณเลือกได้ และเป็นมิตรต่อสุขภาพแบตเตอรี่ในระยะยาว